ถังบำบัด...ใต้ดิน
เชียนโดย admin เมื่อ September 28 2009 04:45:57
ถังบำบัดน้ำเสีย...มีใช้งานกันมานานแล้วเพื่อทดแทนระบบบ่อเกรอะบ่อซึมแบบเก่า โดยเฉพาะในพื้นที่ของกรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากดินบริเวณนี้อิ่มตัวเกินกว่าที่จะซึมน้ำออกจากบ่อแล้ว แต่หลายท่านก็ประสบปัญหากันอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลิ่นไม่พึงประสงค์ ถังเต็มไว อุดตัน ไปจนถึงถังแตกชำรุด ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ถ้าเรารู้สาเหตุ หรือหากยากเกินกว่าที่ "ช่างในบ้าน"ทั่วไปจะแก้ไขด้วยตัวเองก็ควรเรียกช่างผู้ชำนาญมาซ่อมแซม
1.ถังชีวอนามัย(ถังส้วม)
เรามักเรียกกันติดปากว่าถังแซทส์ (SATS) (ที่จริงเป็นเพียงชื่อรุ่นของถังบำบัดน้ำเสียที่มีจำหน่ายในช่วงแรกๆ) เหมาะสำหรับบำบัดน้ำทิ้งจากเครื่องสุขภัณฑ์โดยเฉพาะ
แนวทางแก้ไข : ตรวจสอบว่าปิดฝาถังสนิทหรือไม่ ถ้าไม่สนิทก็จัดการให้เรียบร้อย เพื่อช่วยป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้การที่มีกลิ่นเหม็นและถังเต็มบ่อย อาจเกิดจากกระบวนการบำบัดน้ำโสโครก โดยเฉพาะในช่วงแรกๆที่ติดตั้งถัง เพราะแบคทีเรียที่ช่วยย่อยสลายสิ่งสกปรกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ในเบื้องต้นให้เรียกใช้บริการขนถ่ายสิ่งปฏิกูลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน หรืออาจเติมเชื้อแบคทีเรียในถังเพื่อช่วยเร่งการทำปฏิกิริยาทางชีวเคมีก็ได้
2.ถังบำบัดน้ำเสียประเภทถังแยก (ถังเกรอะและถังกรองแยกจากกัน)
ทั้งสองถังออกแบบให้ใช้งานร่วมกัน "ถังเกรอะ" จะเป็นถังบำบัดน้ำเสียขั้นแรกเพื่อแยกตะกอนหรืออินทรีย์สารออกจากน้ำเสีย และช่วยลดค่าความสกปรกของน้ำก่อนปล่อยสู่ "ถังกรอง" ซึ่งอาศัยแบคทีเรียในการย่อยสลายของเสียในน้ำ ทำให้ได้น้ำทิ้งที่มีคุณภาพดีพอ ก่อนระบายสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เหมาะสำหรับใช้บำบัดน้ำทิ้งต่างๆภายในบ้าน เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว ฯลฯ
แนวทางแก้ไข : ปัญหานี้มีหลายสาเหตุ เช่น การติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน ตัวถังมีคุณภาพต่ำ รวมถึงการทรุดตัวของถัง การแก้ไขก็ต้องว่ากันไปตามเนื้อผ้า เริ่มจากกลิ่นเหม็นย้อนให้ทำตามที่กล่าวไว้ในกรณีของถังชีวอนามัย ถ้าข้อต่อแตกร้าวหรือชำรุดก็ต้องซ่อมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ตัวใหม่ แต่หากถังเกิดการทรุดตัว ซึ่งเป็นเพราะดินอ่อนเนื่องจากระดับน้ำใต้ดินสูงหรือไม่ได้ลงเสาเข็ม* รวมถึงถังรั่วซึม ที่เรามองไม่เห็น งานนี้ต้องเรียกมืออาชีพมาติดตั้งให้ใหม่แล้ว
3.ถังบำบัดน้ำเสียประเภทถังรวม(ถังเกรอะและถังกรองอยู่ด้วยกัน)
เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่รวมหลักการเกรอะและกรองไว้ในถังใบเดียวกัน สามารถใช้บำบัดน้ำเสียทุกชนิดภายในบ้าน ทั้งจากการชำระล้างในครัวเรือนและสิ่งปฏิกูลจากการขับถ่าย เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด
แนวทางแก้ไข : อาจเพิ่มตัวกลางพลาสติก ( MEDIA) และเชื้อแบคทีเรียลงไปในถัง เพื่อช่วยให้จุลินทรีย์ที่ยึดเกาะไม่ไหลไปกับน้ำทิ้ง ทำให้สามารถบำบัดสิ่งสกปรกต่างๆในน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยน ถังใหม่ก็ควรเลือกขนาดถังให้สมดุลกับจำนวนผู้ใช้ภายในบ้าน เช่น ขนาดความจุ 600 ลิตร เหมาะกับบ้านที่มีผู้อยู่อาศัย 2-3 คน หรือขนาดความจุ 2,000 ลิตร เหมาะกับบ้านที่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 6 คน
4.ถังดักไขมัน
มีให้เลือกใช้ทั้งชนิดวางใต้ซิงค์ในห้องครัวและชนิดฝังใต้ดิน โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ตะแกรงดักเศษอาหาร จะช่วยกรองเศษอาหารและสิ่งสกปรกต่างๆเป็นด่านแรก จากนั้นน้ำทิ้งจะไหลผ่านไปยังส่วนที่สองของถังหรือส่วนแยกไขมันเพื่อแยกคราบไขมันที่ลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำออกมา ไขมันที่ถูกแยกจากน้ำจะไหลผ่านท่อระบายไขมันเพื่อนำไปทิ้งต่อไป
แนวทางแก้ไข : การอุดตันของท่อระบายน้ำเสีย ไม่ว่าจะเป็นน้ำทิ้งจากอ่างล้างจาน โถสุขภัณฑ์ ฯลฯ เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ถ้วยยางอัดลม หรืองูเหล็ก รวมถึงการใช้สารเคมีกำจัดสิ่งอุดตันให้หลุดออกไป นอกจากนี้ให้ถอดตะแกรงดักเศษอาหารออกมาล้างทำความสะอาดเป็นประจำ และควรนำเศษอาหารไปทิ้งทุกวันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการบูดเน่า และต้องหมั่นระบายไขมันที่ลอยอยู่ออกทางท่อระบายไขมันทุก 7-10 วัน โดยใส่ถุงพลาสติก หรือใช้วิธีตักใส่ภาชนะแล้วนำไปทิ้งก็ได้
TIPS
-การติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป เมื่อจะหย่อนถังลงในหลุมที่ขุดไว้ เราต้องเติมน้ำให้เต็มถังก่อนแล้วจึงถมดินกลบได้ หากปล่อยให้ถังว่างเปล่า ดินที่ถมกลับเข้ามาจะอัดเข้าด้านข้างของถังทำให้ตัวถังบุบหรือเกิดการรั่วซึม ประสิทธิภาพการบำบัดของเสียก็จะลดลง
-MEDIA หรือตัวกลางพลาสติกของแต่ละบริษัทอาจมีหน้าตาแตกต่างกัน เช่น ทรงกระบอก หรือทรงกลมคล้ายวงแหวน แต่มีประสิทธิภาพในการบำบัดใกล้เคียงกัน โดยเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรีย ซึ่งช่วยย่อยสลายความสกปรกในน้ำ ส่วนใหญ่ไม่ต้องเปลี่ยนหรือเติม ยกเว้นกรณีที่ซื้อถังคุณภาพต่ำมาใช้ อาจมีการลดปริมาณ MEDIA ในถังลงเพื่อประโยชน์ทางการค้า
เรื่อง : "คันยิก้า"
ภาพประกอบ : มาโนช กิตติชีวัน
ที่มา : http://www.baanlaesuan.com/house_preview.aspx?articleId=1907