ท่อไม่ตัน น้ำไม่รั่ว... คุณก็ไม่ซึม
เชียนโดย admin เมื่อ September 29 2009 09:42:10
งานระบบท่อน้ำ เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เพราะหากเกิดปัญหาแล้ว หนทางแก้ไขมักยุ่งยากซับซ้อน จึงเป็นการดีที่เราควรจะทำความเข้าใจและศึกษาไว้บ้าง เพื่อการสั่งงานและต่อรองกับช่าง
1 ซิกแซกมาก ก็รั่วมาก
ปัญหาการรั่วซึมเป็นปัญหาอันดับต้นๆที่พบเห็นได้อยู่เสมอ แต่มักจะเป็นการพบเห็นที่ปลายเหตุมากกว่า สาเหตุของการรั่วซึมโดยทั่วไปมักเกิดที่บริเวณข้อต่อ ตามหลักการแล้ว การเดินท่อ ควรให้มีการหักเลี้ยว หักงอให้น้อยที่สุด เมื่อท่อมีการเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ต่างกันก็จะเกิดการฉีกหรือหัก ยิ่งมีช่วงข้อต่อ ข้องอมาก ก็ยิ่งมีโอกาสรั่วซึมมาก เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อหรือการรวบท่อต่างขนาด (เช่น 2 1/2นิ้ว กับ 4 นิ้ว) ก็ไม่นิยมทำหลายจุด เพราะโอกาสเกิดการรั่วซึมจะมีมากขึ้นด้วย
2 เอียงให้พอ ก็ไหลเร็ว
ระดับความลาดชันของท่อเป็นเรื่องสำคัญมากของการระบายน้ำ ถ้าลาดเอียงไม่พอก็ทำให้ระบายน้ำได้ล่าช้า เกิดการอุดตันของเศษวัสดุ (ความลาดเอียงของท่อโสโครกและท่อน้ำทิ้ง 1:50)* นานวันเข้าก็หมักหมม น้ำที่ขังภายในท่อไม่สามารถระบายได้ ปัญหามากมายก็จะตามมา เช่น กลิ่นเหม็น พื้นลื่น มีคราบ เพราะสิ่งสกปรกต่างๆไม่ไหลลงท่อ กดชักโครกไม่ลง ซึ่งประเด็นหลังนี้อาจเป็นเพราะมีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งสุขภัณฑ์ เพิ่มความยาวของท่อจนไม่สามารถทำความลาดเอียงให้พอต่อการไหลระบายที่ดีได้ หรือบางทีอาจเกิดจากการใช้ท่อที่ไม่ได้ขนาด เช่น ขนาดหน้าตัดเล็กเกินไป (ท่อน้ำทิ้งโดยทั่วไปควรมีหน้าตัดอย่างน้อย 2 1/2นิ้ว ) รวมทั้งการไม่ได้ติดตั้งท่อระบายอากาศก็เป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันได้เช่นกัน การเดินท่อโสโครกหรือท่อระบายสิ่งปฏิกูลนั้น ตามหลักควรมีการทำ Cleanout หรือจุดที่สามารถเปิดฝากำจัดสิ่งอุดตันได้
* ที่มา : มาตรฐานการเดินท่อน้ำในอาคารบ้านพักอาศัยของวิศวกรรมสุขาภิบาล
3 น้ำร้อน ท่อทนได้
ระบบน้ำร้อนจะปลอดภัยที่สุดเมื่อวางแผนตั้งแต่ก่อนสร้างบ้าน ข้อควรรู้สำหรับคนที่คิดจะติดตั้งหม้อต้มน้ำร้อนในบ้าน ก็เช่น ท่อที่ต่อจากหม้อต้มจะต้องเป็นท่อที่ทำจากวัสดุโลหะเท่านั้น เช่น ทองแดง หรือเหล็กแกลแวไนซ์ ห้ามใช้ท่อพลาสติก (แม้กระทั่งพีวีซี) เพราะน้ำจะมีอุณหภูมิร้อนจัด ถ้าเป็นไปได้ควรเดินใต้พื้นคอนกรีต หรือฝังในผนัง หากทำไม่ได้ก็ต้องมีฉนวนป้องกันไว้ ส่วนในจุดแยกเข้าสู่ก๊อกต่างๆก็ห้ามใช้สายยาง ต้องใช้ท่อเหล็กถัก และขอแนะนำให้ใช้ก๊อกน้ำแบบ Mixer หรือ ก๊อกผสม เพื่อควบคุมอุณหภูมิของน้ำ เมื่อพูดถึงความปลอดภัยอย่าลืมติดตั้งเบรกเกอร์ และเดินสายดินด้วย
4 ใช้ท่อให้ถูกสี
> สีของท่อไม่เกี่ยวกับความสวยงาม แต่เกี่ยวกับความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะในบ้านมีทั้งไฟฟ้าและน้ำ มีทั้งน้ำดีและน้ำไม่ค่อยดี เราจะรู้ได้ว่าอะไรอยู่ข้างในก็ด้วยสีของท่อนั่นเอง บางทีแค่ดูจากขนาดของท่อเราก็อาจพอเดาได้
สีของท่อตามมาตรฐานแบ่งตามนี้ครับ
- ท่อน้ำดี (ยกเว้นน้ำร้อน) ใช้ ท่อพีวีซีสีฟ้า (มีความแข็งแรงขนาดกลาง) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใช้ก็เช่น 3/4 นิ้ว ส่วนที่แยกเข้าสุขภัณฑ์ใช้ขนาด 1/2 นิ้ว
- ท่อน้ำโสโครก ตามหลักการใช้ ท่อพีวีซีสีดำ แต่ในการใช้งานทั่วไปจะใช้สีฟ้าก็ได้เช่นกัน ขนาดจะใหญ่กว่าท่อทั่วไป คืออยู่ที่ 4 นิ้ว
- ท่อน้ำทิ้ง ใช้ท่อพีวีซีสีเทา (ทนแรงอัดได้ไม่มาก จึงใช้ทำท่อน้ำทิ้ง) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 1/2 นิ้ว
- ท่อร้อยสายไฟ ใช้ท่อพีวีซีสีเหลือง ซึ่งมีความแข็งแรงมากที่สุด สามารถใช้ร้อยสายไฟฝังในผนังได้
ถ้าทำตามนี้ก็จะทำให้เข้าไปซ่อมบำรุงได้ง่าย และจะดียิ่งขึ้นถ้ามีการจัดทำและจัดเก็บผังงานระบบน้ำและไฟฟ้าตามที่สร้างจริง จะได้ไม่สับสนว่าอะไรเป็นอะไร อยู่ที่ไหนของบ้าน ส่วนไหนของผนัง ทำให้ไม่ต้องทุบทั้งหมดครับ
* หมายเหตุ ข้อมูลการแยกสีงานท่อ จากหนังสือร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
5 ปากท่อ...ต้นตอของน้ำขัง
จุดระบายน้ำที่พื้นหรือ floor drain เป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรคำนึงถึง เพราะมักเป็นจุดที่ก่อปัญหาน้ำขังในห้องน้ำ ซึ่งสาเหตุมีหลายประการ อาทิ การปรับระดับความลาดเอียงของพื้นห้องน้ำไปสู่จุดระบายน้ำ ต้องมีความลาดเอียง 1 : 200 หากน้อยกว่าหรือไม่ได้ปรับระดับจะทำให้ระบายน้ำได้ไม่ดี จนเกิดการท่วมขังได้ การใช้ฝาครอบแบบดักกลิ่น ซึ่งภายในจะเป็นตะแกรงที่หากใช้ไปนานๆก็มักมีเศษผม คราบสบู่ และตะกอนไปอุดตัน ทำให้ระบายน้ำได้ช้า เกิดน้ำขังเจิ่งนองในห้องน้ำ จึงต้องหมั่นตรวจตราทำความสะอาดอยู่เสมอ ขนาดของฝาครอบก็ไม่ควรต่ำกว่าขนาดของท่อน้ำทิ้ง คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 2 1/2 นิ้ว ตามปกติเรามักทำจุดระบายน้ำไว้ที่ส่วนอาบน้ำหรือส่วนเปียกเพียงจุดเดียว แต่หากห้องน้ำมีขนาดใหญ่ อาจกำหนดจุดระบายเพิ่มเติมตามตำแหน่งที่เห็นควร เช่น บริเวณโถชักโครก ก็ได้เช่นกัน
เรื่อง : "ศุภวัฒน์" , "จ.เขียน"
ภาพประกอบ : กีรติ เงินมี
ที่มา : http://www.baanlaesuan.com/house_preview.aspx?articleId=1933